เลือดออกช่วงให้นมบุตร

เลือดในอกผสม..กลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน...อุปมา..หรือความจริง

บทความโดย พญ.ปวีณา เลือดไทย 

 

       ช่วงนี้มีหลังไมค์มาถามหมอเกี่ยวกับเรื่อง คุณแม่ปั๊มนมแล้วมีเลือดออกมาปริมาณมาก และเข้าใจว่าเป็นจากกินอาหารบางอย่าง หมอเห็นภาพแล้ว ถึงกับอุทานเบาๆ ด้วยถ้อยคำสุภาพ แปลได้ว่า  เป็นขนาดนี้ มาตรวจเถอะค่ะ อย่ามัวแต่โทษฟ้าโทษดิน โทษอาหารกันเลย 

       แต่ว่าวันนี้จะขอเล่าจำเพาะเจาะจงในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ถ้าสารคัดหลั่งนั้นเป็นน้ำนม ออกมาจากหลายๆท่อของหัวนมก็คงเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเป็นเลือดล่ะ มันปกติหรือเปล่า

       ภาวะที่มีเลือดอยู่ในน้ำนมสามารถพบได้บ่อย  โดยจะสังเกตได้ในนมที่ปั๊มออกมา  หรือเมื่อลูกน้อยสำรอกนมผสมเลือดออกมา หรือเห็นเลือดในอุจจาระของลูก สาเหตุหลักๆก็คือ

  1. หัวนมและลานนมได้รับบาดเจ็บ ซึ่งพบได้บ่อย หัวนมแตก(Cracked nipple) มีผื่น แผล รอยกัด  โดยส่วนใหญ่ถ้ารักษาแผลหาย เลือดก็จะหายไป
  2. Rusty pipe syndrome เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว ในบางคนช่วงแรกของการให้นม จะเห็นว่าน้ำนมมีสีชมพู  ส้ม น้ำตาล หรือเหมือนสีของสนิม ซึ่งมาจากมีเลือดปริมาณน้อยๆผสมอยู่กับcolostrum  แม่ไม่มีอาการเจ็บปวด อาจเกิดที่เต้านมข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้  เกิดจากในช่วงของการตั้งครรภ์ เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเพื่อเตรียมสร้างน้ำนม มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น เลือดบางส่วนมีค้างอยู่ในท่อน้ำนมทำให้มีเลือดปนออกมากับน้ำนม ภาวะนี้สามารถดีขึ้นได้เอง
  3. เส้นเลือดฝอยในเต้านมแตก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้กรวยปั๊มนมในขนาดที่ไม่ถูก ไม่เหมาะสม หรือมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นที่เต้านม
  4. ภาวะเต้านมอักเสบ มีการติดเชื้อขึ้นภายในเต้านม มีอาการปวด บวม แดงร้อน  มีไข้ร่วมด้วย
  5. เนื้องอกในท่อน้ำนม หรือเรียกว่า Intraductal papilloma เมื่อเกิดภาวะมีเลือดออกจากหัวนม ที่ไม่ได้เกิดจากประวัติมีแผล บาดเจ็บที่หัวนม ต้องคำนึงถึงภาวะนี้ไว้ด้วย                             

หมอเพิ่งจะเขียนบทความเรื่อง สารคัดหลั่งจากหัวนม ว่าอะไรคือปกติ อะไรคือผิดปกติและต้องเข้ารับการตรวจรักษา

สรุปสุดท้าย พบได้ไม่บ่อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้น และร้ายแรงถ้าละเลย นั่นคือ

    6. มะเร็งเต้านมและมะเร็งที่หัวนมและลานนม (Paget’s disease) อาจจะมีอาการเลือดออกจากหัวนม มีก้อนที่เต้านม หรือมีแผลเรื้อรังที่หัวนมและลานนม

       สำหรับการรักษา ก็รักษาตามสาเหตุทีเกิด ถ้าเกิดจากแผลที่หัวนม รักษาแผล ปรึกษาคลินิกนมแม่ เพื่อดูแลท่าทางการให้นมบุตรที่ถูกต้อง ปรับความแรงเครื่องปั๊มนม และ ปรับขนาดของกรวยปั๊มนมให้เหมาะสม โดยส่วนใหญ่เลือดที่ออกจะดีขึ้นได้เอง แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Breast disease during pregnancy and lactation

https://pdfs.semanticscholar.org/2582/cba922f9db4718df8c667e1f5ebe7b42a44c.pdf

https://www.verywellfamily.com/blood-in-breast-milk-431550

หมายเหตุ:: ไม่มีการรับประกันผลลัพธ์ที่ตายตัวและผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

แกลเลอรี่