ก้อนเต้านมในหญิงกำลังให้นมบุตร
มีคุณแม่อายุ 30 ต้นๆ ท่านหนึ่ง เข้ามาหาหมอด้วยท่าทางกังวล คุณแม่ท่านนี้เล่าให้ฟังว่า พึ่งคลอดบุตร ตอนนี้ลูกชายอายุ 5 เดือน คุณแม่รู้สึกว่าเต้านมด้านซ้ายมีบริเวณที่หนากว่าที่อื่นตั้งแต่ลูกอายุ 1 เดือน ไม่แน่ใจว่าเป็นก้อนหรือเปล่า ไม่เคยมีอาการอักเสบ ปวดบวม แดงร้อน หรือมีไข้
หลังจากที่ให้นมลูกห่างขึ้นเต้านมยุบลง จึงรู้สึกว่าน่าจะเป็นก้อน พอเข้าไปหาข้อมูลที่อินเทอร์เน็ต ก็จบด้วยความรู้สึกว่า “ฉันต้องเป็นมะเร็งแน่ๆ” คุณแม่จึงตัดสินใจมาที่โรงพยาบาล ตรวจร่างกายคลำได้ลักษณะของก้อนจริง ลักษณะรีๆ ขนาดประมาณ 2 ซม ไม่เจ็บ (การตรวจร่างกายบางครั้งไม่สามารถแยกถุงน้ำออกจากก้อนเนื้อได้ ) หมอแนะนำให้ทำอัลตราซาวด์ พบว่าเป็นถุงน้ำ หน้าตาแบบนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยมาก ไม่ต้องผ่าตัดหรือดูดน้ำออกก็ได้ เพียงแค่ติดตาม แต่คุณแม่ท่านนี้กังวลมาก อยากให้ก้อนหายไป หมอจึงใช้เข็มดูดออก น้ำที่ได้ออกมาก็มีลักษณะคล้ายน้ำนม
คลิปการดูดของเหลวจากถุงน้ำ
ของเหลวที่ได้จากการดูดถุงน้ำ
แพทย์กำลังใช้เข็มเบอร์ 20 เจาะถุงน้ำ
ทำการดูดของเหลวออก
ถุงน้ำจะค่อยๆ ยุบตัว
ถุงน้ำยุบตัวหมดแล้ว
เจาะถุงน้ำเสร็จจะถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้เปรียบเทียบ
ภาพการดูดของเหลวจากถุงน้ำ
เกล็ดความรู้นิดหน่อย ภาวะแบบนี้เรียกว่า “ถุงน้ำนม” หรือ “Galactocele” ซึ่งพบได้ในคุณแม่กำลังให้นมบุตรค่ะ เมื่อคลำได้ก้อนในเต้านม แนะนำให้ทำอัลตราซาวด์เพื่อแยกว่า เป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ และมีความน่าสงสัยมะเร็งเต้านมหรือไม่ หากเป็นถุงน้ำหรือถุงน้ำนมแล้ว ไม่อันตราย ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออก จะดูดน้ำออกก็ได้หากคุณแม่มีความกังวล หรือมีอาการอื่นๆ ค่ะ