การใช้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

การใช้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ศัลยแพทย์มะเร็งวิทยา

พญ.มธุรส สุขวณิช อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา

 

บทบาทสำคัญในการรักษา

การใช้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านม เป็นส่วนสำคัญในการรักษามะเร็งเต้านม เพื่อเพิ่มโอกาสในการหายขาด ยาเคมีบำบัดมีประโยชน์หลายประการ ดังนี้

1. ลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำ: ยาเคมีบำบัดสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด ช่วยลดโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต

2. ทำลายเซลล์มะเร็งที่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย: ยาเคมีบำบัดสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งไม่สามารถตรวจพบด้วยวิธีการตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการภาพถ่ายทางรังสี เช่น CT scan, PET scan เป็นต้น

3. เพิ่มอัตราการรอดชีวิต: การใช้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำและการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ด้วยการช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจยังคงเหลืออยู่

4. ปรับปรุงคุณภาพชีวิต: การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำและการกระจายของเซลล์มะเร็ง ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีขึ้นและมีโอกาสหายขาดจากมะเร็งเพิ่มขึ้น

 


การพิจารณาใช้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ

การตัดสินใจให้ยาเคมีบำบัดจะต้องอาศัยการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยพิจารณาจากผลการตรวจทางพยาธิวิทยา ข้อมูลจากการตรวจวินิจฉัย และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย การให้คำปรึกษากับผู้ป่วยเกี่ยวกับประโยชน์ ความเสี่ยง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยาเคมีบำบัดเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการตัดสินใจ

การใช้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำและเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรคมะเร็งเต้านม การตัดสินใจควรดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบคอบและมีการใช้ข้อมูลวิจัยทางการแพทย์ที่เป็นปัจจุบัน การตัดสินใจใช้ยานั้นต้องอาศัยการพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ดังนี้

1.       ลักษณะของมะเร็งเต้านม: โดยพิจารณาจาก

o    ระยะของโรค ซึ่งประกอบด้วย ขนาดของก้อนมะเร็งที่เต้านม การกระจายของเซลล์มะเร็งไปต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่นๆ

o    ชนิดของมะเร็ง โดยพิจารณาจาก สถานะของตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน(ER, PR) สถานะของ HER2 และค่า Ki-67 ที่แสดงถึงสภาะวะการแบ่งตัวของมะเร็ง

2.       สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย: ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ กายภาพ และจิตใจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด โดยดูจากสภาพความแข็งแรงของร่างกายโดยรวม อายุ โรคประจำตัว ยาที่รับประทานอยู่ และความสามารถในการรับมือกับผลข้างเคียง ตลอดจนความต้องการและความกังวลของผู้ป่วย

กลุ่มผู้ป่วยที่มักได้รับการพิจารณาให้ใช้ยาเคมีบำบัด คือผู้ป่วยที่มีมะเร็งเต้านม ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกลับเป็นซ้ำ เช่นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ มีการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง มะเร็งที่เติบโตเร็ว เป็นมะเร็งเสี่ยงสูงเช่นชนิด Triple negative(ER, PR, HER2 เป็นลบทั้ง 3 ตัว) มะเร็งชนิด HER2 เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ยาเคมีบำบัดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการรักษาแบบองค์รวมสำหรับมะเร็งเต้านม แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ควบคู่กับการรักษาวิธีอื่นๆ เช่น ยาต้านฮอร์โมน ยาพุ่งเป้าHER2 ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) ยายับยั้ง CDK4/6 เป็นต้น

 

ระยะเวลาที่ควรเริ่มให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด

การเริ่มต้นยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยรวมถึงสภาพสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ลักษณะเฉพาะของมะเร็ง และประเภทของการผ่าตัดที่ได้รับ โดยทั่วไปแล้ว การเริ่มต้นยาเคมีบำบัดมีคำแนะนำดังนี้:

1.       ช่วงเวลาที่เหมาะสม: การเริ่มต้นยาเคมีบำบัดโดยทั่วไปควรเริ่มต้นหลังจากผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดและสามารถทนต่อผลข้างเคียงจากการรักษาได้ ช่วงเวลานี้มักจะอยู่ระหว่าง 3-6 สัปดาห์ หลังจากการผ่าตัด แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำของแพทย์และสภาพของแต่ละผู้ป่วย

2.       ความพร้อมของผู้ป่วย: ก่อนเริ่มต้นยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงพอสมควร เพื่อรับมือกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น แพทย์อาจประเมินสุขภาพโดยรวม เช่น แพทย์อาจสั่งการตรวจสุขภาพโดยรวม เช่น การตรวจเลือด ตรวจหาการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น ตับและไต ตรวจการทำงานของหัวใจก่อนเริ่มยาเคมีบำบัด เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย และประเมินสภาพจิตใจของผู้ป่วยก่อนเริ่มการรักษา

3.       การเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเอง ได้แก่

o    จัดการผลข้างเคียง: การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดการกับผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน การสูญเสียน้ำหนัก หรือการสูญเสียเส้นผม และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการดูแลตัวเองในบ้าน

o    การเตรียมเรื่องอาหารการกิน เน้นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารและง่ายต่อการย่อย สะอาด

o    เตรียมตัวสำหรับช่วงเวลาที่อาจรู้สึกไม่สบายหรือไม่มีพลังงาน โดยจัดการกับภาระงานในบ้านหรือภาระงานอื่นๆ ล่วงหน้า

4.       การการเตรียมความพร้อมและการสนับสนุน: ผู้ป่วยและครอบครัวควรได้รับการเตรียมพร้อมและการสนับสนุนทั้งในด้านจิตใจและข้อมูลเกี่ยวกับยาเคมีบำบัดถึงผลข้างเคียงและวิธีการจัดการกับมัน

การเริ่มต้นยาเคมีบำบัดเป็นการตัดสินใจที่ควรมีการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินประโยชน์ ความเสี่ยง และเป้าหมายของการรักษาในแต่ละกรณี การติดตามและประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้แพทย์สามารถปรับแต่งแผนการรักษาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย การเตรียมตัวก่อนรับยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจสำหรับการรักษาที่จะตามมา การเตรียมตัวอย่างเหมาะสมสามารถช่วยลดผลข้างเคียงและเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาได้

สูตรยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมหลังการผ่าตัด

การตัดสินใจในการเลือกสูตรยาเคมีบำบัดจะทำร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย การประเมินผลการรักษาและการปรับเปลี่ยนสูตรยาอาจจำเป็นตามการตอบสนองและความทนทานของผู้ป่วยต่อการรักษา สูตรยาเคมีบำบัดที่ใช้หลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ หลายประการ เช่น ชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง receptors ของมะเร็ง สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง ตัวอย่างสูตรยาเคมีบำบัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย:

1.       AC (Adriamycin-Cyclophosphamide): ใช้โดยทั่วไปสำหรับมะเร็งเต้านมในระยะ1-3 ให้ยา 4 ครั้งห่างกันทุก 3 สัปดาห์

2.       AC (Adriamycin-Cyclophosphamide) ใช้โดยทั่วไปสำหรับมะเร็งเต้านมในระยะ2-3 ให้ยา AC 4 ครั้ง ตามด้วยยากลุ่ม Taxanes เช่น Docetaxel (T) หรือ Paclitaxel 4 ครั้ง รวมเป็น 8 ครั้ง ห่างกันทุก 3 สัปดาห์ หรืออาจแบ่งPaclitaxel เป็น 12 ครั้งห่างกันทุก 1 สัปดาห์

3.       TC (Docetaxel-Cyclophosphamide): สำหรับมะเร็งเต้านมในระยะ1-3 ให้ยา 4-6 ครั้งห่างกันทุก 3 สัปดาห์ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านหัวใจ

4.       TAC (Docetaxel, Doxorubicin, Cyclophosphamide): มักใช้สำหรับมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกลับเป็นซ้ำ ให้ยา 6 ครั้งห่างกันทุก 3 สัปดาห์

 

5.       CMF (Cyclophosphamide, Methotrexate, Fluorouracil): เป็นยาสูตรเก่าที่ใช้มานาน สามารถใช้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแรกถึงระยะกลางที่ไม่เหมาะสมกับสูตรยาที่แรงกว่า
นอกจากนี้ยังมีสูตรยาที่ให้ร่วมกับ ยาพุ่งเป้า
HER2 ในมะเร็งชนิดHER2 หรือให้ร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัดในมะเร็งชนิด Triple negative โดยอาจมีส่วนผสมของยาเคมี Carboplatin ร่วมด้วย

หมายเหตุ:: ไม่มีการรับประกันผลลัพธ์ที่ตายตัวและผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

แกลเลอรี่